|
|
|
Categories: บทความ
ปลดล็อคพลังงานขยะ เพื่อสิ่งแวดล้อม-พลังงาน และเศรษฐกิจชุมชน 28-07-2016 Views: 4241 |
ปลดล็อคพลังงานขยะ เพื่อสิ่งแวดล้อม-พลังงาน และเศรษฐกิจชุมชน
ขอชื่นชมกับการที่ คสช. ใช้ มาตรา 44 เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตลอดมา และเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559 ได้มีการประกาศใช้ ม.44 ช่วยปลดล็อคผังเมือง เพื่อให้พลังงานทดแทนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานขยะ และพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์สามารถเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ยังปลดล็อคพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษให้พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ทันการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งหากรอให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบราชการปกติ อย่างที่บางฝ่ายอยากให้เป็นแล้วละก็ ต้องยอมรับว่า กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้
สำหรับพลังงานจากขยะ ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ นั้น ก็ได้อานิสงส์จากการปลดล็อคผังเมืองให้เดินหน้าไปได้ระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากพลังงานขยะนั้นถูกพอกไปด้วยกฎระเบียบของรัฐหลายชั้น และนับวันก็ยิ่งมีหน่วยงานรัฐเข้ามาสนใจเขียนกฎระเบียบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ต้องปลดล็อคในวันนี้...พรุ่งนี้ และเดี๋ยวนี้...ก็คือ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (PPP) ซึ่ง สคร. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) เป็นเจ้าภาพ
พลังงานขยะมีขั้นตอนมากกว่าพลังงานทดแทนอื่น ๆ กล่าวคือ ต้องมีสัญญาการจัดการขยะระยะยาวจากท้องถิ่นมาก่อน แล้วจึงจะสามารถนำสัญญาไปขออนุญาตก่อสร้าง และใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ซึ่งอาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี หลังจากได้ครบถ้วนแล้ว ยังต้องใช้เวลากว่า 2 ปี 6 เดือน ในการก่อสร้างโรงงานคัดแยกขยะและโรงไฟฟ้า หากคำนวณดูแล้วกว่าจะขายไฟได้คงประมาณ ปี 2563-2564 แต่มติ กพช. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 กำหนดให้การขายไฟฟ้าสำหรับ FiT ต้องให้ทันใน ปี 2561 และนี่คือสาเหตุว่า ทำไมพลังงานขยะจึงไม่คืบหน้า หากหน่วยงานราชการใดเห็นว่าขั้นตอนที่ประมาณการมานี้ยาวเกินไป ก็สามารถจัดทำคู่มือการขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่อช่วยย่นระยะเวลา
กะเทาะเปลือก พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
ด้วยเหตุผลนานาประการของผู้ยกร่าง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ โดยมีเจตนาลึก ๆ เพื่อป้องกันภาคเอกชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเอาเปรียบภาครัฐ แต่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปหลากหลายความคิด บ้างก็คิดว่าเป็นการดึงอำนาจกลับคืนสู่ส่วนกลาง เนื่องจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เน้นที่การกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม วันนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีคณะกรรมการ PPP (Public Private Partnership) ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน ทันทีที่ประกาศ พ.ร.บ.เมื่อต้น ปี 2556 โครงการก็ถูกจัดเข้าข่ายการร่วมทุนโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม และมีผลให้พลังงานขยะล้มไม่ลุก จวบจนปัจจุบันถึงแม้ พ.ร.บ.จะแยกโครงการขนาดเล็กออกด้วยมูลค่าการลงทุนที่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยให้ทางกระทรวงการคลังประกาศกฎหมายลูก เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติให้แล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่า ประกาศของกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 นั้น กลับ Cloning พ.ร.บ.ฉบับแม่เกือบ 100% เปลี่ยนเฉพาะอำนาจอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเมื่อ ค.ร.ม.มีมติให้กระทรวงมหาดไทยดูแลพลังงานขยะ ความทุกข์จึงตามมาที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งปกติรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมักจะมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติหน้าที่แทน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว แต่ประกาศของกระทรวงการคลังคลุมเครือ ยากต่อการตีความว่ามอบอำนาจได้หรือไม่ ทำให้วันนี้พลังงานจากขยะแท้งตั้งแต่ตั้งท้อง นักลงทุนไม่สนใจ ดังเหตุผลที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้
ทำไมพลังงานขยะต้องเข้าข่าย พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
ขอสรุปเนื้อหาแบบสามัญชนเข้าใจง่าย ๆ ใน พ.ร.บ.ร่วมทุน (ไม่สามารถนำไปอ้างอิงได้) โดยย่อดังนี้
โครงการเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ประกอบด้วยเหตุผลสำคัญข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังนี้
1. การให้เอกชนเข้าลงทุนทำในสิ่งที่ภาครัฐต้องทำโดยปกติอยู่แล้ว ตามความรับผิดชอบ เช่น การจัดการขยะ ฯลฯ
2. การเช่าหรือใช้ทรัพย์สินของรัฐ เช่น โครงการโซล่าร์ราชการและสหกรณ์ รวมทั้งพลังงานขยะที่ใช้พื้นที่ของรัฐ
3. การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของชาติ (สายลม แสงแดด เป็นทรัพย์สินของชาติตาม BOI กำหนด)
ดังนั้นท่านอาจเคยได้ยิน ได้ฟังคำว่า ขยะเป็นทรัพย์สินของชาติ ต่อมามีการเปลี่ยนแนวทางชี้แจงใหม่ว่า การจัดการขยะเป็นภารกิจที่รัฐต้องทำตามกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อยกภารกิจนี้ให้ภาคเอกชนไปทำแทนจึงเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ถึงแม้เอกชนจะมีการลงทุน 100% ก็ตาม แต่ก็มีการตีความไปต่าง ๆ นานาว่ารัฐไม่เคยผลิตขยะเป็นพลังงาน จึงไม่น่าเป็นกิจการ
คราวนี้ท่านพอจะเข้าใจ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 บ้างแล้วใช่ไหม จริง ๆ แล้ว พ.ร.บ.นี้ใช้กับทุกกระทรวงและทุกโครงการ ไม่ได้เจาะจงที่พลังงานทดแทน แต่เมื่อพลังงานทดแทนได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังจากภาครัฐ เพื่อหวังจะให้กระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่เศรษฐกิจโลกเกิดการชะลอตัว จึงตกเป็นเป้าหมายของ พ.ร.บ.นี้ แต่วันนี้ PPP หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กลายเป็นหนึ่งในกฎระเบียบที่ชะลอเศรษฐกิจไทย หากปลดล็อค PPP เพื่อเปิดทางให้พลังงานขยะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการเป็นวาระแห่งชาติ สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ ม.44 เพียงแต่ กระทรวงการคลัง ประกาศเพิ่มเติมปลดล็อคประกาศ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 เพียงเท่านี้ ขยะเจ้าปัญหาก็จะกลายเป็นพลังงานอันมีค่าทันที
เรียบเรียงบทความโดยCopyright: www.energysavingmedia.com |
|
|
|
|
|
|
|