|
|
|
Categories: บทความ
|
สร้างสมดุลเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน 28-07-2016 Views: 6277 |
สร้างสมดุลเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน
ใน พ.ศ.นี้ ภาคเกษตรกรรมคงต้องยอมรับว่าพลังงานทดแทนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ชีวมวล" กำลังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ภาคเกษตรมีความยั่งยืนและเข้มแข็งขึ้น วันนี้ไทยอาจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ส่งออกพืชตัวใดตัวหนึ่งเป็นอันดับ 1 ของโลก และอาจไม่จำเป็นต้องเป็นครัวของโลก หากโลกนี้ยังคงกดราคาอาหารและสร้างเงื่อนไขมากมายกับการส่งออกของไทย แต่สิ่งที่จำเป็นที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 165,000 ตารางกิโลเมตร ให้เกิดความสมดุล ไม่ต้องประกันราคาหรือจำนำกันทุกรัฐบาล ชาวไร่ไม่ต้องนำพืชราคาตกมาเทประท้วงตามท้องถนน เราปลูกในสิ่งที่เราจำเป็นส่งออกเท่าที่เราเหลือนำส่วนเกินและเศษเหลือทิ้งมาผลิตพลังงานทดแทนลดการนำเข้าพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ (Fossil)
ภาคเกษตรกรรมและพลังงานถูกหลอมรวมกันในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้อย่างแนบเนียนจนแยกไม่ค่อยออก หรือบางท่านก็ไม่ทราบด้วยซ้ำว่า นี่คือ เกษตรพลังงาน สมมติว่าถ้ามีใครถามว่า วันนี้ท่านใช้พลังงานทดแทนแล้วหรือยัง
? บางท่านอาจทำหน้างง ๆ ตอบไม่ถูกแล้วคิดไปเองว่าเป็นปมด้อยหากไม่ใช้พลังงานทดแทน แต่แท้ที่จริงแล้วพลังงานทดแทนไทยแทรกอยู่ในทุกแห่งหนของชีวิตประจำวันคนไทยไปแล้ว พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 2-3% ที่ขายเข้าสายส่งไปแล้วกระจายไปทั่วประเทศ ทำให้ไฟที่ชาร์จมือถือของท่านก็มีส่วนที่ผลิตจากพลังงานทดแทน น้ำมันเบนซินและดีเซลมีส่วนผสมของพลังงานทดแทน 5 - 85% และยิ่งไปกว่านั้นหาก พ.ร.บ.พลังงานทดแทน ที่ทาง คสช.กำลังทำคลอดอยู่รอดเป็นทารกและเติบโตแข็งแรง วันนั้นจะไม่มีใครถามว่า วันนี้คุณใช้พลังงานทดแทนแล้วหรือยัง
เมื่อเข้าใจตรงกันแล้ว ก็จะนำท่านที่อยู่นอกวงการไปรู้จักกับเกษตรพลังงานตัวแม่ นั่นก็คือ อ้อยและน้ำตาล ที่บรมครูสุนทรภู่เคยกล่าวไว้ว่า อันอ้อยตาลหวานสิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย ในยุคสมัยนี้ลมปากอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลจึงมีอัตราแบ่งปันกันตามกฎหมาย 70 : 30 ชาวไร่ลงทุนลงแรงมากกว่าแบ่งไป 70% ซึ่งเพียงพอให้ชาวไร่อ้อยลืมตาอ้าปาก มีรถปิคอัพคันงามขับรับ-ส่งครอบครัว ทุกวันนี้เกือบทุกชิ้นส่วนของอ้อยได้นำไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกากน้ำตาล ชานอ้อย ใบอ้อย ฯลฯ นำมาผลิตไฟฟ้าและเอทานอลผสมเบนซินเติมรถเก๋งคันหรูอยู่ทั่วเมือง
พืชอันดับต่อไป ก็คือ ปาล์มน้ำมัน พืชพลังงานที่หล่อเลี้ยงพี่น้องชาวภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก มาโดยตลอด ถึงแม้จะถูกการเมืองแทรกแซงนำน้ำมันปาล์มเข้ามาบ้าง แต่ชาวสวนปาล์มก็ยังยืนหยัดอยู่ได้ ปาล์มน้ำมันมีความคล้ายคลึงกับอ้อยคือ หลังจากสกัดน้ำมัน ที่เราเรียกว่า CPO : Crude Palm Oil ออกไปแล้วจะเหลือทลายปาล์มเปล่า เหมือนอ้อยที่มีชานอ้อยเหลืออยู่ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล หรือนำไปหมักเอาก๊าซชีวภาพสุดแล้วแต่ต้องการพลังงานชนิดไหน ปัจจุบันกระทรวงพลังงานชาญฉลาดใช้ไบโอดีเซลที่ผลิตจาก CPO เป็นเครื่องมือในการรักษาดุลยภาพราคาผลปาล์ม ระหว่างการใช้เป็นอาหารและพลังงาน โดยช่วงปาล์มขาดแคลนก็ผลิตไบโอดีเซลน้อยลง ผลิตน้ำมันพืชบริโภคมากขึ้น ดังนั้นไบโอดีเซลบ้านเราจึงมีเกรดเดียว อาจเรียก กรีนดีเซล ก็คงไม่ผิด วันนี้ส่วนผสมของไบโอดีเซล B100 (100%) อยู่ระหว่าง 1% - 7% ในอนาคตอันใกล้อาจผสมได้ถึง 10% นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีในการผลิตไบโอดีเซลใหม่ ๆ ที่มีความทันสมัยอยู่ในระหว่างการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์
มันสำปะหลัง เป็นพืชที่เคยถูกจัดอันดับให้เป็นพืชที่มีผลตอบแทนต่อไร่ต่ำที่สุด เมื่อใดที่มีพืชตัวใหม่จะเข้ามาส่งเสริมเป็นต้องใช้ราคามันสำปะหลังเป็นตัวเปรียบเทียบเสมอมา วันนี้ถึงแม้มันสำปะหลังจะเป็นหนึ่งในพืชหลักของไทย แต่ราคาก็ยังผันผวน ยิ่งถ้ารัฐบาลกดราคาเอทานอลลง ก็อาจส่งผลกระทบกับผู้ปลูกมันสำปะหลังทันที การส่งออกมันสำปะหลังส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยตลาดประเทศจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ดีกว่าในปัจจุบัน ไทยคงต้องหันมาพัฒนาการผลิตพลังงานจากมันสำปะหลังมากขึ้น อาจเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี การเพิ่มปริมาณการใช้เอทานอล ซึ่งคงจะดีกว่าทุ่มทุนไปนำเข้าพลังงานทดแทนที่ไทยเองได้แค่ติดตั้งเครื่องจักร
ในบรรดาราคาพืชหลักของประเทศไทย อันได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมันและยางพารา จะเห็นได้ว่า ยางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่ต้องมีการวางแผนการปลูกให้ดี เนื่องจาก ยางพารา ต้องแข่งขันราคากับพลังงานจากฟอสซิล อันเนื่องมาจากยางเทียมเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันนั่นเอง แต่ยางพาราก็มีจุดแข็งคือ ต้นยางพาราสามารถใช้ประโยชน์ได้แทบทุกชิ้นส่วน วันนี้ คสช. มีนโยบายให้ตัดลดปริมาณสวนยางลง เพื่อเป็นการพยุงราคายางแผ่น ซึ่งโดยปกติสวนยางที่อายุเกิน 20 ปี ก็ต้องตัดโค่นปลูกใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตอยู่แล้ว แต่ชาวไร่ยังต้องอาศัยรายได้จากการขายน้ำยางพาราจึงยังไม่มีการตัดโคนมากเท่าที่ควร
ขอก้าวข้ามไปถึงเรื่องของป่าไม้ในประเทศไทย บางท่านอาจไม่ทราบว่า ป่าไม้ของไทยในส่วนของป่าอนุรักษ์ เราสามารถรักษาให้อยู่ในเป้าหมายได้ ส่วนป่าเศรษฐกิจเรามีไม่เพียงพอ ดังนั้นการปลูกไม้ยืนต้นประเภทพืชพลังงานรวมทั้งยางพารายังถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น ส่วนพืชโตเร็ว เช่น สแกนา กฐินยักษ์ ฯลฯ รัฐก็ควรส่งเสริมให้ปลูกเพื่อผลิตพลังงานจะถือว่าเป็นการปลูกป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และช่วยให้ชาวสวนมีรายได้เพิ่มขึ้น
ต้นยางหมดอายุหนึ่งต้น ที่ถูกตัดโค่นจะมีส่วนใช้ประโยชน์มากมาย โรงเลื่อยทั่วไปหันมานำส่วนที่เหลือจากการผลิตไม้แผ่น มาผลิต Biomass Pellets ซึ่งตลาดส่งออกราคาค่อนข้างดีตามที่เคยเสนอข่าวไปแล้ว แต่ปัจจุบันราคาอาจจะผันผวนไปบ้าง ซึ่งภาครัฐควรหันมาส่งเสริมให้ใช้ Wood Pellets ในโรงงานอุตสาหกรรมจะเกิดความยั่งยืนกว่าการอาศัยตลาดส่งออกเพียงอย่างเดียว คงต้องมีเจ้าภาพที่มีทั้งอำนาจและหน้าที่เข้ามาช่วย นอกจากนี้การขอใบอนุญาตจากกรมป่าไม้เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งจากการตัดไม่ทำลายป่า (FSC) ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อีกต่อไป
จากการยกตัวอย่างพืชหลัก 4 ชนิด ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านเกษตรและพลังงานมาให้ดูตัวอย่างแล้วนั้น ได้เวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไปสู่เกษตรพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ระหว่างผู้ปลูกไปจนถึงผู้ผลิตพลังงาน การออก พ.ร.บ. หรือ ม.44 นั้น ชาติได้ประโยชน์ไปแบบเต็มๆ
เรียบเรียงบทความโดยCopyright: www.energysavingmedia.com |
|
|
|
|
|
|